เรามาเลี้ยงสัตว์ในคอนโดกันเถอะ

เรามาเลี้ยงสัตว์ในคอนโดกันเถอะ 

ในยุคที่คอนโดมิเนียมเป็นที่พักอาศัยยอดนิยมของคนเมือง และหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่นิยมมีบุตร เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบัน หรือแม้แต่แนวคิดที่เปลี่ยนไปก็ตาม กรณีนี้ยังรวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่เดียวดายหรือขาดบุตรหลานคอยดูแลอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจนึกถึงการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้อยู่เป็นเพื่อนคลายเหงา ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว งู กิ้งก่า อีน่ากลัว!! อ่ะ!! ไม่ใช่ครับเป็นอีกัวน่า อ่ะ!! ถูกแล้ว!! แต่การมีสัตว์เลี้ยงในคอนโดกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้อยู่อาศัยหลายคนต้องการทราบอย่างละเอียด เพราะแน่นอนเมื่อมีคนรักก็ย่อมมีคนชัง ดังนั้นนอกจากการเลือกสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสมแล้ว ผู้เลี้ยงยังต้องคำนึงถึงกฎหมาย ข้อกำหนดของนิติบุคคล ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ดังกล่าวของท่านอีกด้วย 

โดยหลักการแล้ว พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติโดยตรงที่ห้ามหรืออนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ในคอนโด อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์ในคอนโดจะอยู่ภายใต้ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งสามารถออกระเบียบเพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ได้ โดยในหลายๆ กรณี นิติบุคคลอาคารชุดมักกำหนดห้ามการเลี้ยงสัตว์ในห้องชุดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น เสียงดัง กลิ่นรบกวน และปัญหาความสะอาดในพื้นที่ส่วนกลาง  อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อห้ามในกฎหมายโดยตรง แต่หากนิติบุคคลอาคารชุดระบุห้ามไว้แล้ว ผู้อยู่อาศัยก็ควรปฏิบัติตาม ทั้งนี้ การฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยถูกนิติบุคคลดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย เช่น การปรับตามระเบียบข้อบังคับ หรือการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 

เคยมีคดีความเกิดขึ้นจริงที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ในคอนโด ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ หนึ่งในกรณีที่เป็นที่กล่าวถึงคือ กรณีที่เจ้าของห้องชุดรายหนึ่งถูกนิติบุคคลฟ้องร้องเนื่องจากเลี้ยงสุนัขในห้องชุด โดยนิติบุคคลอ้างว่าผิดข้อบังคับของอาคารชุด ศาลได้พิจารณาโดยคำนึงถึงข้อบังคับและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ โดยพิจารณาว่า “ข้อบังคับนี้เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยทุกคน ซึ่งหากข้อบังคับได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว ผู้อยู่อาศัยก็ต้องปฏิบัติตาม” ศาลจึงตัดสินให้เจ้าของห้องชุดนั้นต้องยุติการเลี้ยงสุนัขและดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อบังคับที่กำหนด 

ดังนี้แล้วสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ในคอนโด ควรตรวจสอบข้อบังคับของคอนโดที่อยู่อาศัยอย่างละเอียด และหากพบว่าอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาความสะอาด การป้องกันเสียงรบกวน และการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรมีการพูดคุยกับนิติบุคคลและเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและเป็นมิตรต่อทุกคนในชุมชนคอนโด 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานครยังได้มีมติเห็นชอบข้อบัญญัติการควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ และฝังไมโครชิปลดปัญหาสัตว์จร โดยหลังจากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง แต่จะไม่มีบทลงโทษย้อนหลังหากสัตว์ที่เลี้ยงอยู่เดิมเกินจำนวน ทั้งนี้ให้มีผลหลังจากประกาศแล้ว 360 วัน โดยมีการจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งกรณีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในคอนโดหรือห้องเช่า ไม่ว่าตามข้อบังคับของนิติบุคคลจะอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์หรือไม่ก็ตาม หากพื้นที่ห้องอยู่อาศัยมีพื้นที่ตั้งแต่ 20-80 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว และพื้นที่ห้องอยู่อาศัยมีพื้นที่ตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว และหากเป็นกรณีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านพักอาศัย หากพื้นที่ห้องอยู่อาศัยมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางวา สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว แต่หากมีพื้นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว พื้นที่ตั้งแต่ 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว และพื้นที่ตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไป สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว  ทั้งนี้ กรณีเลี้ยงสัตว์เกินกว่าที่กำหนด ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น 

เพราะฉะนั้นการเลี้ยงสัตว์ในคอนโดมิเนียมนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาถึงข้อบังคับของนิติบุคคลและความยินยอมของผู้พักอาศัยรายอื่นๆ ด้วยแล้ว เจ้าของสัตว์เลี้ยงยังต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพกฎระเบียบของสังคมชุมชนตามถิ่นที่อยู่อาศัยของตน รวมถึงต้องนำสัตว์ไปฝังไมโครชิป จดทะเบียนและออกบัตรประจำตัว ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่เกิด หรือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นำสัตว์มาเลี้ยงใหม่ ต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรงตามความเหมาะสมของสัตว์แต่ละชนิด มีอาหาร น้ำ แสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่น รบกวนผู้อื่น จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ต้องใส่สายจูงและควบคุมสัตว์ เมื่อพาออกนอกบ้านไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา ควบคุมไม่ให้สัตว์สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เก็บสิ่งปฏิกูลทันทีเมื่อสัตว์ถ่ายในที่สาธารณะ รวมถึงเมื่อสัตว์เสียชีวิต ต้องกำจัดซากสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะ เพราะการไม่ใส่ใจดูแลรับผิดชอบดังกล่าว อาจส่งผลให้คุณต้องรับโทษตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งกรณีหากฝ่าฝืนข้อบัญญัติจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 25,000 บาท เลยทีเดียว  

วันนี้คุยกันพอประมาณแล้วพบกันใหม่คราวหน้าครับ อย่าลืม!! หากคุณไม่ชำนาญหรือไม่มีเวลา หรือกำลังมองหาที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพ เราบริษัท เดอะ บางกอก เรซิเดนซ์ 88 จำกัด ขอฝากเนื้อฝากตัว ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกท่านด้วยนะครับ ติดต่อเราได้เลยที่หมายเลขโทรศัพท์ 1319 แล้วพบกันครับ 

 

กิตติภัต ลักษณพิสุทธิ์ 

You May Also Like These Articles

Please Register your contact infomation and you’ll be contacted shortly.
Consult Real Estate Experts